วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่ (ศรีสะเกษ)



     ปราสาทสระกำแพงใหญ่ หรือ ปราสาทศรีพฤทเธศวร ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระกำแพงใหญ่ ถนนประดิษฐ์ประชาราษฎร์ หมู่ 1 ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้กับสถานีรถไฟอุทุมพรพิสัย และห่างจากที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตร

สภาพทั่วไปของปราสาท

     สภาพทั่วไปของปราสาทสระกำแพงใหญ่ประกอบด้วยระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 49 เมตร ยาว 67 เมตร ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐและบรรณาลัย รวมทั้งหมด 6 หลัง จากภาพถ่ายทางอากาศ ชี้ให้เห็นว่าปราสาทสระกำแพงใหญ่น่าจะมีชุมชนรายรอบอย่างหนาแน่น ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างออกไปประมาณ 400 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เรียกว่า "สระกำแพง" สันนิษฐานว่าน่าจะขุดขึ้นเมื่อครั้งสร้างปราสาท ส่วนทางทิศตะวันออกมีลำห้วยเล็กๆไหลผ่าน คือ ห้วยตาเหมา ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่แยกออกมาจากห้วยสำราญ



ความสำคัญ

     ปราสาทสระกำแพงใหญ่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธแบบมหายานเพื่อเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป จากการขุดแต่บูรณปราสาทแห่งนี้ ของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2532 ได้ค้นพบปฏิมากรรมสำริดขนาดใหญ่เฉพาะองค์สูง 140 เซนติเมตร และรวมความสูงทั้งฐาน 180 เซนติเมตร ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ให้ความเห็นว่าเป็นรูปของนันทิเกศวร หรือ นันทีศวร ลักษณะพิเศษ คือเป็นสำริดกะไหล่ทอง เดิมอาจจะตั้งอยู่หน้าปราสาทหลังกลางภายในมุขหน้าปราสาท เพราะโดยปกติจะประจำอยู่กับเทวาลัยของพระอิศวร ปฏิมากรรมชิ้นนี้เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนตอนปลาย สำคัญมากนับเป็มปฏิมากรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา



การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

     ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับปราสาทอีกหลายแห่งในจังหวัดขุขันธ์ (ชื่อในขณะนั้น)

การประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน
     ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 255 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน



ประวัติ

     ความเป็นมาของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาในสมัยใดหรือศักราชใด ถึงแม้จะพบจารึกที่โบราณสถานแห่งนี้ ข้อความในจารึกกล่าวถึงการซื้อที่ดินถวายแก่เจ้านายผู้ล่วงลับคือ "กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร" ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างปี พ.ศ. 1585 ที่ปรากฏในจารึกไม่ใช่ปีที่สร้างปราสาท ระยะดังกล่าวในกัมพูชาเป็นสม้ยที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ แต่มิได้หมายถึงพระองค์เป็นผู้สร้าง จากการศึกษาลาดลายต่างๆทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ปราสาทสระกำแพงใหญ่ น่าจะมีอายุอยู่ในศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน หรือประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16 ตอนปลาย
ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นศาสนสถานแบบเขมร ทั้งในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม รวมทั้งความเชื่อในการนับถือศาสนาจากหลักฐานที่ปรากฏสันนิษฐานว่าเดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู โดยดูจากทับหลังที่สลักภาพบุคคลเล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาฮินดู ภายหลังเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้จึงเปลี่ยนเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธโดยได้ขุดพบพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ สูง 1.33 เมตร


จารึกปราสาทสระกำแพงใหญ่

     จากจารึกปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่กรอบประตูระเบียงคต มีทั้งหมด 33 บรรทัด เนื้อความย่อมีดัง
พระกมรเตงอัญศิวทาส คุณโทศพระสภาแห่งกมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร เมืองสดุกอำพิลร่วมกับข้าราชการคนอื่นๆ คือพระกมรเตง อัญขทุรอุปกัลปดาบส พระกมรเตงอัญศิขเรสวัตพระธรรมศาสตร์ และพระกมรเตงอัญ ผู้ตรวจราชการ แต่ละปักษ์ ซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกับตระพัง (สระน้ำ) เพื่อถวายให้แก่กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ในวันวิศุวสงกราณต์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 มหาศักราช 964 (พ.ศ. 1585)



องค์ประกอบของปราสาท


  1. บาราย บารายคือสระน้ำ นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสนสถานประเภทปราสาทหิน เนื่องจากจะต้องใช้นำในการประกอบศาสนพิธี ปกติบารายจะอยู่รอบ หรือทางทิศตะวันออกของศาสนสถาน บารายที่อยู่รอบศาสนสถานนั้นเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรทั้ง 4 ด้านตะวันออกเป็นด้านที่ศาสนิกชนเข้าเฝ้าเทพเจ้า ซึ่งมักจะต้องตักน้ำเพื่อไปสรงศิวลึงค์หรือชำระพระบาทเทพเจ้า บารายที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่นี้อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันไม่เหลือสภาพแล้ว
  2. ระเบียงคต ระเบียงคตเป็นกำแพงของศาสนสถานที่ล้อมรอบอาคารศาสนสถานไว้ภายใน ระเบียงคตนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 49 เมตร ยาว 67 เมตร ระเบียงคตมีซุ้มประตูโคปุระ (ซุ้มประตู) ทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ฐานและผนังก่อด้วยศิลาแลงกรอบประตูหน้าต่างทำด้วยหินทรายภายในมีช่องทางเดินกว้าง 3 เมตร สภาพส่วนใหญ่คงเหลือแต่ฐานและผนังบางส่วนเท่นั้น ส่วนที่เป็นหลังคาพังทลายเสื่มสภาพไปแล้ว
  3. บรรณาลัยหรือวิหาร ภายในระเบียงคตเมื่อผ่านซุ้มโคปุระด้านทิศตะวันออกเข้าไปจะพบอาคาร 2 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาคารทั้งสองก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื้นออกมาด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังก่อเป็นอิฐทึบแต่แซะร่องให้มีลักษณะเป็นประตูปลอมเลียนแบบประตูจริง อาคาร 2 หลังนี้เรียกว่าวิหารหรือบรรณาลัย เปรียบได้กับหอตรัยของพุทธศาสนา คือใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่ารูปเคารพ
  4. ปรางค์ ปรางค์หรือปราสาท เป็นศูนย์กลางของศาสนสถาน เป็นที่ประดิษฐานของรูปเคารพ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ประกอบด้วยปรางค์ 4 หลัง คือ ปรางค์หลังทิศเหนือ ทิศใต้ โดยมีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ปรางค์ทั้ง 3 หลังนี้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
     นอกจากนี้ยังมีปรางค์เดี่ยวอีกหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันตกค่อนไปทางทิศใต้ภายในระเบียงคต (ที่มีปรางค์หลายหลังเนื่องจากศาสนาฮฺนดูนับถือพระเจ้าหลายองค์ จึงต้องมีที่ประดิษฐานรูปเคารพหลายหลัง) ปรางค์ทั้งหมดมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 4 x 4 เมตร สำหรับปรางค์ประธานมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ปรางค์ทุกหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และมีประตูเข้าออกเพียงด้านเดียว นอกนั้นทำเป็นประตูปลอม


ภาพจำหลักทับหลัง

     โบราณสถานประเภทปราสาทหิน โดยทั่วไปจะมีทับหลังตั้งอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังนี้เป็นภาพจำหลักเล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา ภาพจำหลักทับหลังปราสาทหินสระกำแพงใหญ่เป็นศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ทับหลังที่พบที่ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่มี่มากถึง 13 แผ่นอยู่ภายในบริเวณปราสาทสระกำแพงใหญ่ ทับหลังที่น่าสนใจได้แก่

  1. ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
  2. ทับหลังพระกฤษณะประลองกำลังกับม้า
  3. ทับหลังพระศิวะทรงโคนนทิ
  4. ทับหลังคชลักษมี
  5. ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
  6. ทับหลังหนุมานถวายแหวน

ขอขอบคุณเนื้อหาดีๆจาก http://th.wikipedia.org
ภาพสวยๆจาก http://samarn.multiply.com